ระหว่างศตวรรษที่ 18-19 ได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป มีการนำเอาเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คือเกิดภาวะการว่างงานและเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่ว การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงครั้งนี้เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ ซึ่งทำให้ชาวอังกฤษต้องประสบกับปัญหาความเดือดร้อนอย่างมากมาย จากการที่นายทุนใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน มีการปลดคนงานออกจากโรงงาน ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยต้องเลิกล้มกิจการไปสภาพสังคมทั่วไปมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายนายทุนและฝ่ายกรรมกร นายทุนพยายามแสวงหากำไรจากการลงทุนมากที่สุด โดยการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายกรรมกรทุกวิถีทาง และจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในครั้งนั้น บรรดากรรมกรที่ถูกบีบคั้นทั้งหลายจึงเริ่มแสวงหาหนทางที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ยากของพวกตน ประกอบกับเวลานั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความคิดอยากจะช่วยพยุงฐานะของสังคมให้ดีขึ้น ได้เสนอแนวทางปรับปรุงสภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม โดยการร่วมมือระหว่างผู้ที่เดือดร้อนให้รู้จักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
บุคคลแรกที่สอนให้คนทั่วไปรู้จักคำว่า สหกรณ์ คือ ชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) ซึ่งถือเป็นผู้ให้กำเนิดการสหกรณ์ขึ้นในโลกและได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งสหกรณ์ เดิมโอเวนเป็นคนยากจน แต่ความเฉลียวฉลาดและรู้จักวิธีการทำมาหากินทำให้เขาได้มีโอกาสเป็นผู้จัดการและมีหุ้นส่วนเป็นเจ้าของโรงงาน เขาเป็นนายจ้างที่มีความหวังดีต่อกรรมกรจึงได้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ทั่วไปของคนงานให้ดีขึ้น หลังจากนั้นโอเวนได้หาวิธีช่วยเหลือกรรมกรอื่น ๆ โดยสอนให้รู้จักการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อขจัดปัญหาและความเดือดร้อนต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการของระบบสหกรณ์ โอเวนจึงเสนอให้จัดตั้ง ชมรมสหกรณ์ (co-operative community) ให้ชมรมสหกรณ์นี้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ใช้เอง โดยไม่ใช้เครื่องจักร ทรัพย์สินของชมรมซึ่งเป็นของส่วนรวมเพื่อมิให้สภาพนายทุนปะปนอยู่ในชมรม การจัดตั้งชมรมสหกรณ์นี้จะต้องใช้เงินทุนและที่ดินเป็นจำนวนมาก และโอเวนก็ได้พยายามเผยแพร่แผนการจัดตั้งชมรมสหกรณ์ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจในสหกรณ์ในฐานะสมาคมเพื่อเศรษฐกิจ แต่โอเวนยังไม่สามารถจัดตั้งชมรมสหกรณ์ในประเทศอังกฤษได้ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพสังคมในสมัยนั้น โอเวนจึงได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2368 ให้ชื่อว่า นิวฮาร์โมนี (New Harmony) แต่ได้ล้มเลิกไปในระยะเวลาต่อมา เนื่องจากไม่ได้คัดเลือกสมาชิกและไม่มีกิจกรรมเพียงพอให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปกครองและศาสนา อย่างไรก็ตามแนวความคิดของโอเวนก็มีอิทธิพลต่อนักปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เขาได้ให้แนวความคิดเกี่ยวกับความร่วมมือร่วมใจ ระหว่างมนุษย์ในอันที่จะช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อยกมาตรฐานความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น
นายแพทย์วิลเลียม คิง (William King) ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เป็นอีกท่านหนึ่งที่นิยมในความคิดทางสหกรณ์ของโอเวน แต่เห็นว่าโครงการของโอเวนต้องใช้เงินทุนจำนวนมากซึ่งจะทำให้เป็นจริงได้ยาก นายแพทย์คิงจึงเริ่มชี้แจงให้คนงานรวมทุนกันคนละเล็กละน้อยตั้ง สมาคมการค้า (Trading Association) ในรูปสหกรณ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2370 เป็นรูปร้านสหกรณ์จำหน่ายสินค้า ร้านสหกรณ์จำหน่ายสินค้ามีข้อแตกต่างไปจากร้านสหกรณ์ในปัจจุบันคือ กำไรที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจของร้านสหกรณ์นี้จะไม่นำมาแบ่งปันกัน แต่จะเก็บสมทบไว้เป็นทุนเพื่อใช้ขยายงานของร้านสหกรณ์ต่อไปจนสามารถจัดตั้งชมรมสหกรณ์ตามแบบโอเวนได้ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวทำให้ร้านค้าแบบสหกรณ์ในรูปแบบนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเก็บกำไรทั้งหมดไว้ไม่จ่ายคืนแก่สมาชิกทำให้สมาชิกไม่ศรัทธาสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม กิจการของนายแพทย์คิงคล้ายกับร้านสหกรณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นในวงการร้านสหกรณ์จึงยกย่องและให้เกียรติท่านเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อมีสมาชิกเพิ่มและธุรกิจการค้าขยายใหญ่ขึ้นและมีการทำธุรกิจกับบุคคลภายนอกด้วย นักสหกรณ์ รอชเดล (Coop Rochdale) หรือที่เรียกกันว่า ผู้นำแห่งรอชเดล จึงกำหนดหลักปฏิบัติไว้ 7 ประการ ซึ่งมีสาระสำคัญหลายประการที่ยึดถือเป็นหลักสหกรณ์สากลจนมาถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยมาเป็นเวลานาน แต่ร้านสหกรณ์รอชเดลก็ยังคงอยู่และเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งกว่านั้นวิธีการร้านสหกรณ์สำหรับผู้บริโภคแบบนี้ได้แพร่หลายออกไปสู่ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ
ปัจจุบันร้านสหกรณ์ที่ถือหลักการสำคัญ ๆ อย่างเดียวกันนี้มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ส่วนสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ เช่น สหกรณ์ที่ช่วยเหลือสมาชิกให้กู้ยืมเงินไปทำทุนหรือสหกรณ์เครติด หรือ สหกรณ์สินเชื่อก็เช่นเดียวกัน สหกรณ์เหล่านี้เกิดจากความขัดสนและความเดือดร้อนของเกษตรกรและกรรมกร เนื่องจากหาเงินกู้ยืมมาประกอบการทำมาหากินได้ยาก และแม้ว่าจะกู้มาได้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงจนไม่สามารถหารายได้เพียงพอกับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้เป็นเหตุให้หนี้สินมาก
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2393 ผู้พิพากษาชาวเยอรมันแห่งเมืองเดลิตซ์ ชื่อนายเฮอร์มัน ซูลซ์ (Hermann Schulze) จัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาหุนขึ้นในหมู่ชาวเมือง ช่างฝีมือและพ่อค้าขนาดเล็ก โดยรวบรวมขึ้นเป็นองค์การเพื่อจัดหาทุนให้สมาชิกกู้ยืม ต่อมา พ.ศ. 2405 นายฟริดริค วิลเฮล์มไรฟ์ไฟเซน (Friedrich Wilhelm Raiffisen) ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรี เมืองเฮดเอสดอร์ฟ ได้จัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นในหมู่ชาวชนบทซึ่งเป็นเกษตรกรโดยจัดเป็นองค์การเพื่อจัดหาทุนให้แก่สมาชิกกู้ยืมเช่นเดียวกัน ในเวลาต่อมาการรวมกันเป็นสหกรณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก็ได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์และเป็นตัวอย่างในการจัดตั้งสหกรณ์มาจนถึงปัจจุบัน
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2566 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 18
Copyright © 2022 Cooperative Technology Tranfer Center 18
ภาพประกอบเว็บไซต์ โดย : canva.com , pixabay.com , flaticon.com